7 วิธีลดอุบัติเหตุกับ 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์

กันไว้ก่อน ดีกว่าแก้…ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 7 วันของการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักจะเกิดอุบัติเหตุบนท้อนถนน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากมีวันหยุดยาวทำให้ผู้คนใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก เราจึงมีวิธีเตรียมตัวเองให้พร้อมเมื่อต้องขับขี่รถบนท้องถนน

1. ง่วงไม่ขับ

ตามประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกาย หรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 บทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งการง่วงแล้วขับไม่ได้เกิดเฉพาะช่วง 7 วันอันตรายเท่านั้น แต่ในชีวิตประจำวันที่แสนธรรมดาก็สามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อคุณเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองหรือผู้ขับรถมีอาการง่วงควรปฏิบัติดังนี้

  • จอดพักเพื่องีบสัก 15-20 นาที อย่านานกว่านี้เพราะสมองจะมึนและไม่สดชื่น
  • ดื่มกาแฟ เทคนิคคือให้ดื่มก่อนที่จะงีบ เนื่องจากกาแฟไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที แต่จะออกฤทธิ์ให้หลังเมื่อ 10-15 นาทีไปแล้ว วิธีนี้เราจะตื่นพอดี และสดชื่นทันก่อนออกรถอีกครั้ง
  • ร้องเพลง เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือการทำให้ปากขยับไล่ความง่วง
  • งดดื่มแอลกอฮอล์คืนก่อนเดินทาง ฯลฯ

2. งดขับรถเร็ว

ส่วนใหญ่มักประมาทการขับรถบนท้องถนนด้วยการขับรถเร็ว และการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเกิดจากการขับรถเร็ว สาเหตุอาจมาจากการเร่งรีบขณะขับรถเพื่อไปถึงจุดหมายให้เร็วขึ้น หรืออาจเป็นปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันทั้ง พ.ร.บ. จราจรและ พ.ร.บ. ทางหลวง ได้เพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10,000 บาทอีกด้วย หากคุณสามารถลดความเร็วในการขับรถ หรือกระทั่งการขับรถแซงทางโค้ง ขับรถเปลี่ยนเลนกระทันหัน การเบรครถกระทันหัน การขับรถฝ่าไฟแดง ฯลฯ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ตัวคุณเองรวมไปถึงคนรอบข้างได้อีกด้วย

3. เมื่อเมาห้ามขับรถ

การเมาแล้วขับแป็นสาเหตุหลัก ๆ และสำคัญมากในช่วงเทศกาลที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เนื่องจากคนไทยเป็นชาติที่นิยมการสังสรรค์ และจะมากกว่าปกติหากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ ตับ สมอง หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด สายตาพร่ามัว ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองช้า การตัดสินใจช้าลง และผิดพลาดง่ายขึ้นและการควบคุมอารมณ์ผิดปกติ เมื่อขับรถขณะเมาขาดสติจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับ หรือควรงดการดื่มแอลกอฮอล์เลยจะเป็นการลดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด

4. คาดเข็มขัดนิรภัย หรือแม้แต่การสวมใส่หมวกกันน็อค

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพึงปฏิบัติคือ การคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อค ซึ่งหากละเลยข้อนี้ไปนอกจากจะเสียทรัพย์แล้วอาจทำให้เสียชีวิตได้ เหตุผลสำคัญของการต้องปฏิบัติตามกฎจราจรโดยการคาดเข็มขัดและสวมหมวกกันน็อคก็เพราะ เป็นการคุ้มครองส่วนบุคคลเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นและช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บให้น้อยลง โดยเฉพาะหมวกกันน็อค เนื่องจากศีรษะเป็นอวัยวะสำคัญเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดการกระแทกของศีรษะนั่นเอง การสวมหมวกกันน็อคและการคาดเข็มขัดจึงเป็นอีกข้องหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

5. ห้ามโทรศัพท์ขณะขับรถ

กฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ การใช้อินเทอร์เน็ต และการแชท ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่ากรณีใด ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หากพบการกระทำผิดจะมีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท กฎหมายข้อนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อลดการใช้โทรศัพท์เท่านั้น แต่เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย เพราะเมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถอาจทำให้การรับรู้ของประสาทลดลงหรือพูดง่าย ๆ ว่า แยกประสาทไม่ได้เนื่องจากในการขับรถเราใช้ทั้งสายตา หู มือและประสาทสัมผัสต่าง ๆ หากเราจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์อย่างเดียวอาจทำให้สติในการขับรถลดน้อยลงและมีโอกาสต่อการเกิดอุบัติเหตุ

6. เช็คสภาพรถก่อนสตาร์ท

ก่อนสตาร์ทรถ หรือเมื่อมีเวลาว่างควรตรวจเช็คสภาพรถเป็นประจำ เนื่องจากสภาพรถเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการดูแลรถ ซึ่งหากขาดการดูแล และตรวจสภาพรถอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงควรหมั่นตรวจเช็ครถทุกครั้ง เช่น การเช็คลมยางก่อนทุกครั้ง หากพบว่าลมยางอ่อนเกินไปควรแวะเข้าปั๊ม หรืออู่ที่ใกล้เคียงเพื่อเติมลมยางให้พอดีไม่แข็ง และไม่อ่อนจนเกินไป หรือการเช็คไฟหน้าไฟหลัง แบตเตอรี่ ถังน้ำมัน สัญญาณไฟเตือนต่าง ๆ สายเบรค ฯลฯ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยในขั้นแรกของการขับรถบนท้องถนน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวเรา และคนรอบข้างแล้ว ยังทำให้อายุการใช้งานรถเพิ่มขึ้นอีกด้วย

7. การไม่ประมาทและความไม่ขาดสติ

จากวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของการไม่ประมาท และความไม่ขาดสติทั้งสิ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันหรือการขับรถบนท้องถนนก็เป็นสิ่งที่ควรระลึก และจำขึ้นใจไว้เสมอ เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจ และเป็นเครื่องป้องกันภัยกับตัวเราได้ดีที่สุด ที่พบเห็นการประมาทบ่อย เช่น หันหรือก้มไปหยิบจับสิ่งใด อย่างเช่นแว่นกันแดด แก้วน้ำ โทรศัพท์มือถือ หรืออาจรวมถึงการนำเด็กเล็กมานั่งตักเวลาขับรถ เป็นต้น เพียงแค่ละสายตาจากเส้นทางตรงหน้าก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นในขณะขับรถจึงต้องไม่ประมาท และมีสติอยู่เสมอ

การเตรียมตัวเอง และยานพาหนะให้พร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โทรสายด่วนที่ควรรู้ สายด่วน 1669 หรือโทร: 056-786454 โรงพยาบาลวังโป่ง เพชบูรณ์ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายสถานพยาบาล และหน่วยบริการทั้งภาครัฐ และเอกชนให้บริการการส่งต่อผู้บาดเจ็บผู้ป่วยฉุกเฉิน

เมาแล้วขับ ต้องรับโทษอะไรบ้าง❓
 

⚠️⚖️ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ที่มี

• ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”

• ปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ🚫🚘ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน

#เมาแล้วขับ หรือ ⚠️การปฏิเสธเป่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และ⚖️ศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บ”🚶🏻🚗
• จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บสาหัส”🩸🚗
• จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “ถึงแก่ความตาย” ☠️🚗
• จำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และ📍เพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

🤍🤍ปลอดภัยที่สุด คือ ดื่มไม่ขับ 🤍🤍

Cr. สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก